วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รฟท.ปัดฝุ่นพัฒนาที่ดิน3แปลง บอร์ดสั่งนำร่อง 'ย่านมักกะสัน' / ย่านพหลฯ-ช่องนนทรี คิวต่อไป


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2418 16 เม.ย. - 18 เม.ย. 2552

บอร์ดการรถไฟฯ รื้อแผนพัฒนาที่ดิน 3 แปลงใหญ่ จี้พัฒนาที่ดินย่านมักกะสันเป็นลำดับแรก เพื่อรองรับแอร์พอร์ตลิงค์ ที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ สั่งเร่งรีไรต์แผนแม่บทเพื่อกำหนดความชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน ส่วนที่ดินย่านพหลโยธิน-สถานีแม่น้ำ เล็งพัฒนาเป็นเฟส 2 และเฟส 3 เร่งพัฒนาที่ดินย่านสถานีทั่วประเทศ

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้บอร์ดได้สั่งการให้ผู้บริหารการรถไฟฯ ไปเร่งดำเนินการจัดแผนพัฒนาที่ดิน3 แปลงใหญ่ของการรถไฟ ประกอบด้วย

ที่ดินย่านพหลโยธินที่ดินย่านสถานีแม่น้ำ (ช่องนนทรี) และที่ดินย่านมักกะสันเพื่อพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มและนำรายได้ที่ได้มาพัฒนาองค์กรชดเชยการขาดทุน

ทั้งนี้ในระยะแรกได้สั่งการให้เร่งทบทวนแผนการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันก่อนเนื่องจากที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณเดียวกับสถานีมักกะสันของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้อย่างเป็นทางการภายในปี 2552 นี้ เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพของแอร์พอร์ตลิงค์ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกต่อประชาชนและผู้มาใช้บริการด้วยโดยให้การรถไฟฯ เร่งทบทวนแผนแม่บทที่เคยศึกษาไว้ว่ายังคงใช้ได้หรือไม่ จะต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดอย่างไร จะมีรูปแบบการลงทุนอย่างไร รวมถึงเรื่องของมูลค่าการลงทุนและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบด้วย

ส่วนที่ดินบริเวณย่านสถานีแม่น้ำ (ช่องนนทรี) และที่ดินย่านพหลโยธินนั้น ให้เร่งพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากยังไม่มีผลการศึกษา หรือยังไม่มีแผนแม่บทก็ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อจะได้กำหนดทิศทางในการดำเนินการให้ชัดเจนและเร่งดำเนินการพัฒนาเป็นระยะที่ 2 จากนั้นให้นำที่ดินตามสถานีต่างๆ มาพัฒนาเป็นระยะต่อไป

"บอร์ดได้สั่งการให้ผู้บริหารการรถไฟฯ ไปเร่งดำเนินการพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ทั้งหมดเลย

โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะสำคัญ และได้กำชับให้เร่งทำเลยโดยไม่ต้องรอแผนฟื้นฟู

หรือรอให้การจัดตั้งบริษัทลูกพัฒนาทรัพย์สินแล้วเสร็จ เพื่อให้การพัฒนาที่ดินบริเวณต่างๆ สอดรับกับบริษัทลูกที่จะจัดตั้งขึ้นมาในอนาคต ส่วนของที่ดินที่มีแผนการพัฒนาอยู่แล้วอย่างที่ดินมักกะสัน ก็ให้รีไรต์แผนแม่บทใหม่ แล้วเร่งดำเนินการให้เร่งปัดฝุ่นแผนพัฒนาอีกครั้งและให้ทำอย่างเป็นรูปธรรม"

นายถวัลย์รัฐ กล่าวอีกว่า ในส่วนของแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟฯนั้น ขณะนี้ได้ทำความเข้าใจ ชี้แจงรายละเอียด กับทุกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว และเชื่อว่าจะสามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาได้ประมาณวันที่ 21 เมษายนนี้ และหากได้รับความเห็นชอบก็จะเร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกในทันที

ขณะที่ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่ได้รับทราบแผนการพัฒนาที่ดิน หรือแผนอื่นๆ จากการรถไฟฯ ซึ่งในเร็วๆ นี้ สนข. จะไปติดตามและเร่งรัดในทุกด้าน ทั้งด้านการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินและอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นการติดตาม และคอยดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามที่กำหนด ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดและเพื่อการพัฒนาองค์กร

อนึ่งที่ดินของการรถไฟฯ ที่มีอยู่ มีจำนวน 234,976 ไร่ ประกอบด้วย

ที่ดินที่ใช้รองรับภาร กิจหลักขององค์กร 198,674 ไร่
ที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ 36,302 ไร่
ที่ดินย่าน สถานี 5,333 ไร่
ที่ดินบ้านพัก 3,755 ไร่ และ
ที่ดินที่เป็นพื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่

สำหรับที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้จำนวน 36,302 ไร่ นั้น แบ่งเป็นพื้นที่บริเวณสายตะวันออกจำนวน 4,952 ไร่
สายเหนือ 4,306 ไร่
สายตะวันออกเฉียงเหนือ 9,032 ไร่
สายใต้ 15,186 ไร่
และพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,825 ไร่ ซึ่งยังมีพื้นที่ที่สามารถนำมาพัฒนาได้อยู่ประมาณ34,487 ไร่ โดยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่แปลงใหญ่ อาทิ ที่ดินย่านพหลโยธิน 1,070 ไร่ และมักกะสัน 745 ไร่
ก่อนหน้านี้การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่ดินย่านมักกะสันไว้ด้วยซึ่งพื้นที่นี้ มีขนาด 650 ไร่ ถือเป็นที่ดินที่มีศักยภาพเพราะอยู่ใจกลางเมือง ใกล้แหล่งธุรกิจที่สำคัญอาทิ ประตูน้ำ ราชประสงค์ สุขุมวิท เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในส่วนของระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2
ถนนสายหลักต่างๆ เช่น ถนนจตุรทิศ ราชปรารภ เพชรบุรี รัชดาภิเษก สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวกหลายทาง ทั้งยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีพญาไทและรถไฟฟ้าใต้ดินที่สถานีเพชรบุรี
ทั้งนี้ได้กำหนดตัวเลือกในการพัฒนาไว้ 2 ทางเลือก ตามรายงานผลการศึกษาในเบื้องต้น

กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาคือ
แนวทางที่ 1 จะมีพื้นที่ในการพัฒนาประมาณ 2,200,000 ตารางเมตร คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวน202,000 ล้านบาท จะประกอบไปด้วย พื้นที่สำหรับก่อสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าที่พักอาศัย โรงแรมอาคารสำนักงาน อาคารร้านค้า ศูนย์ออกกำลังกาย ศูนย์อาหาร และ โรงพยาบาล

ส่วนแนวทางที่ 2 จะใช้พื้นที่ในการพัฒนารวม 1,030,000 ตารางเมตรคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 82,000 ล้านบาท ประกอบด้วย พื้นที่สำหรับห้างสรรพสินค้า ที่พักอาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์ออกกำลังกาย ศูนย์แสดงสินค้า และโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ที่ปรึกษายังได้แบ่งพื้นที่ในการพัฒนาออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่

1. พื้นที่ส่วนเอ จัดให้เป็นพื้นที่ส่วนธุรกิจการค้า ซึ่งจะอยู่ติดกับสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง มีเนื้อที่ประมาณ 104 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ศูนย์การค้า ที่จอดรถ พื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีและที่พักอาศัย พื้นที่โรงแรม

2. พื้นที่ส่วนบี จะเป็นพื้นที่ส่วนธุรกิจการค้าและศูนย์ประชุม อยู่ติดกับสถานีราชปรารภ มีเนื้อที่ 123 ไร่

3. สำหรับพื้นที่ส่วนซี จะเป็นพื้นที่ส่วนธุรกิจสำนักงาน อยู่ติดกับบึงมักกะสัน เนื้อที่รวม 143 ไร่ และ

4. พื้นที่ส่วนดี จะเป็นพื้นที่ของส่วนศูนย์แสดงสินค้า อยู่ติดกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่เนื้อที่รวม 125 ไร่

ส่วนที่ดินย่านพหลโยธิน และย่านสถานีแม่น้ำ(ช่องนนทรี)นั้น ขณะนี้ยังไม่มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนและยังไม่มีการศึกษาหรือจัดทำแผนแม่บทไว้ โดยพื้นที่ย่านพหลโยธินนั้น
มีที่ดินรวม 23 แปลง มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,325 ไร่ แต่เมื่อหักพื้นที่ที่มีข้อจำกัดออกจำนวน 765 ไร่ และพื้นที่ใช้ในการพัฒนาเป็นสาธารณูปโภคประมาณ 468 ไร่ จะเหลือพื้นที่ใช้สอยที่นำมาพัฒนาได้ประมาณ 1,092 ไร่
ส่วนพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำ (ช่องนนทรี) มีเนื้อที่รวมประมาณ 277 ไร่ เมื่อหักพื้นที่ใช้พัฒนาระบบสาธารณูปโภคประมาณ 83 ไร่ จะเหลือพื้นที่ใช้สอยที่พัฒนาได้ประมาณ 194 ไร่ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถพัฒนาเป็นคอมเพล็กซ์ ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงานให้เช่าได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น