วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เร่งสำรวจที่ดินรถไฟทั่วประเทศ


มติชนรายวัน ฉบับที่ 11442 ฉบับวันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

หารายได้ชดเชยหนี้-บำนาญ สคร.ชี้หยุดงานกระทบแอร์พอร์ตลิงก์

บอร์ดพัฒนาที่ดิน สั่ง ร.ฟ.ท.เร่งสำรวจที่ดินทั่วประเทศ เพื่อแยกประเภท พัฒนาสร้างรายได้ ตั้งจ่ายหนี้คงค้างกว่า 7 หมื่นล้านบาท และบำนาญอีกปีละ 2 พันล้านบาท สคร.เผย สหภาพแรงงาน หยุดเดินรถกระทบ วางระบบ "แอร์พอร์ตลิงก์" หวั่นไม่ทันเปิดทดลอง 5 ธ.ค.นี้

นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้สั่งให้ ร.ฟ.ท.เร่งสำรวจที่ดินทั่วประเทศ เพื่อนำมาแบ่งประเภทและพัฒนาให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้ เพื่อชดเชยหนี้สินคงค้างกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท และจ่ายค่าบำนาญของพนักงานที่มีกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี

นายประกิจกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการบุกรุกที่ดินของ ร.ฟ.ท.พบว่า มีชุมชนที่บุกรุกที่ดิน 358 ชุมชน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2551 มีชุมชนที่บุกรุกถึง 250 ชุมชน จากปี 2546 ที่มีเพียง 128 ชุมชนเท่านั้น ซึ่งบางส่วนเป็นการขยายชุมชนให้ใหญ่ขึ้น บางส่วนบุกรุกพื้นที่เพื่อสร้างชุมชนใหม่ ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะต้องไปดูรายละเอียดว่า แต่ละพื้นที่มีที่ดินที่ถูกบุกรุกและเป็นชุมชนใหม่จำนวนเท่าไร เพื่อรายงานให้คณะกรรมการทราบและหาแนวแก้ไขต่อไป

นายประกิจกล่าวถึงผู้บุกรุกที่อยู่ในแนวโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันว่า ชุมชนบางซื่อได้ยื่นเงื่อนไขให้ ร.ฟ.ท.ช่วยเหลือ เช่น ขอย้ายไปใช้พื้นที่บริเวณคลองต้นซุง หรือพื้นที่อื่นของ ร.ฟ.ท.แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง

ด้านายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวถึงการชุมนุมประท้วงของการหยุดเดินรถไฟของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท.ว่า กระทบต่อการจัดตั้งบริษัทและการจัดการวางระบบรางของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ต้องใช้เวลาในการเจรจากับสหภาพแรงงาน ทำให้งานทุกอย่างหยุดชะงัก รวมถึงการเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูของ ร.ฟ.ท.ด้วย ซึ่งจะต้องรอการเจรจากับสหภาพแรงงานให้จบก่อน อาจจะทำให้การเปิดทดลองใช้ไม่ทัน ในวันที่ 5 ธันวาคม จากที่เลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งที่จะเปิดทดลองใช้ในวันที่ 12 สิงหาคมนี้

นายอารีพงศ์กล่าวถึงการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.ว่า เป็นบริษัทจำกัดที่ร.ฟ.ท.ถือหุ้น 100% ซึ่งเป็นข้อเสนอของสภาพแรงงานว่า ควรจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบริหาร หาก ร.ฟ.ท.ไม่มีความเชี่ยวชาญพอ เพื่อสร้างรายได้ต่อปีให้มากกว่า 2 พันล้านบาท จากเดิมที่มีรายได้จากการบริหารสินทรัพย์เพียงปีละ 1.5-2 พันล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่มีทรัพย์สินอยู่จำนวนมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น