วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รฟท.ฟื้นแผนพัฒนาคอนโดบางซื่อ


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2419 19 เม.ย. - 22 เม.ย. 2552

การรถไฟฯ ปัดฝุ่นแผนผุดคอนโดบางซื่อ หลังดองมาเป็นปี เหตุสตง. เบรกไม่เห็นด้วยกับโครงการ ด้านผู้บริหารเตรียมจ้างที่ปรึกษาศึกษาแผนการลงทุนใหม่ ผุดโครงการคอนโดมิเนียมขายพนักงานในราคาถูก พ่วงขายให้ประชาชนทั่วไปด้วย ด้านประธานบอร์ดคล้อยตาม แต่ย้ำต้องทำโปร่งใส

นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว ผู้อำนวยฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้การรถไฟฯ กำลังเตรียมจัดทำร่างข้อกำหนด (ทีโออาร์) ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อทำการศึกษาแผนพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีรถไฟบางซื่อ ย่านตึกแดง ริมคลองเปรมประชากร บนพื้นที่ 105 ไร่ เป็นที่พักอาศัย โดยจะศึกษาถึงรูปแบบโครงการว่าจะพัฒนาอย่างไร พร้อมความเหมาะสม เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย พร้อมพิจารณาว่าจะทำเป็นที่พักอาศัยสำหรับพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ที่มักกะสัน และ ที่ กม.11 ให้ได้ย้ายเข้ามาอาศัยร่วมกัน เพื่อเก็บค่าเช่าราคาถูก หรือควรจะพัฒนาเป็นรูปแบบร่วมคือแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้พนักงานการรถไฟฯ เช่าในราคาถูก แล้วอีกส่วนหนึ่งเปิดขายให้ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ต้องพิจารณาเรื่องของรูปแบบการลงทุนและมูลค่าการลงทุน รวมถึงผลตอบแทนที่การรถไฟฯ จะได้รับด้วย

อย่างไรก็ดีเบื้องต้นมีแนวคิดว่าจะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมองรูปแบบการลงทุนไว้ 2-3 รูปแบบ อาทิ รูปแบบแรกคือให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้าง ดูแลรับผิดชอบ รวมถึงทำหน้าที่ในการขายด้วย แล้วจำหน่ายให้การรถไฟฯ ในราคาถูก

ส่วนแบบที่สอง จะให้สิทธิเอกชนดำเนินการพัฒนา ก่อสร้าง หารายได้ทั้งหมด โดยจะกำหนดว่าหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะให้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง มาจ่ายแทนค่าเช่าและค่าธรรมเนียม เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของพนักงานการรถไฟฯ ส่วนพื้นที่ที่เหลือเอกชนสามารถที่จะนำไปขายหารายได้กับประชาชนทั่วไปได้ หรืออีกทางหนี่ง คือจ้างก่อสร้างเพียงอย่างเดียว แล้วทางการรถไฟฯ จะเข้าไปดูแลเอง

นายภากรณ์กล่าวโดยคาดว่าจะสามารถประกาศทีโออาร์จ้างที่ปรึกษาในอีก 2 เดือนข้างหน้า จากนั้นจะให้เร่งดำเนินการภายใน 6-8 เดือน แล้วเสนอผลการศึกษาให้บอร์ดพิจารณาอนุมัติรูปแบบโครงการเป็นลำดับต่อไป

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อใช้เป็นศูนย์รวมสำหรับพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งขณะนี้มีกระจายอยู่หลายแห่ง อาทิ ที่มักกะสัน ที่บริเวณกม.11 อีกทั้งยังต้องการที่จะยกระดับที่พักอาศัย และความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้นด้วย โดยในครั้งนี้จะดำเนินการศึกษาอย่างจริงจัง ให้มีผลการศึกษารองรับ ไม่ให้เกิดปัญหา หรือมีข้อสงสัยจนต้องถูกระงับการดำเนินโครงการไปเหมือนครั้งก่อน ซึ่งในครั้งนี้คงจะดำเนินการพัฒนาภายใต้ระเบียบการร่วมทุน ที่คาดว่าจะใช้มูลค่าสูง แต่การรถไฟฯไม่พร้อม จึงต้องใช้แนวทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

ด้านนายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวแสดงความเห็นว่า ได้ทราบถึงความเป็นมาของแนวคิดก่อนหน้านี้ที่จะทำร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มาบ้างแล้ว ซึ่งบอร์ดเองก็เคยได้คุยกับผู้บริหารการรถไฟฯอยู่บ้าง แต่ไม่เป็นทางการ ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดหรือสั่งการอะไรลงไป และเห็นว่าเป็นแนวคิดที่ดี ที่จะทำให้โครงการเกิดขึ้นเพื่อมอบให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานการรถไฟฯ รวมถึงยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ที่ดินที่มีอยู่ และสร้างประโยชน์ต่อการรถไฟฯเองด้วย แต่การดำเนินการนั้น จะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวอยู่แล้ว โดยได้มีแผนจะดำเนินการร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เพื่อพัฒนาเป็นโครงการที่พักอาศัยเป็นห้องชุดอาคารสูง จำนวน 10,000 ยูนิต มูลค่าลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาท โดยจะให้เช่าเป็นเวลา 30 ปี ค่าเช่าตารางเมตรละ 7-20 บาท ขนาด 32-40 ตารางเมตร ราคาขายประมาณ 550,000 บาท หรือตารางเมตรละ 10,000 บาท แต่ต้องชะลอโครงการไป เนื่องจากถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากล รวมทั้งยังแสดงความเห็นว่ายังไม่เห็นความเหมาะสมที่จะดำเนินการ ทำให้การรถไฟฯ ชะลอโครงการออกไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น