วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

นโยบายใหม่จ้างเอกชนไล่ที่เปิดทางสร้างรถไฟฟ้า


เดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 29 มิถุนายน 2552

การไล่รื้อชุมชนบุกรุก เป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาที่ดินของหน่วยงานราชการ ที่มักเกิดเป็นกรณีพิพาทระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนยืดเยื้อคาราคาซังกัน เห็นกันมาทุกยุคทุกสมัย

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ประสบกับปัญหาการไล่รื้อชุมชนบุกรุกในที่ดินของ รฟท. เพื่อนำที่ดินไปพัฒนาโครงการ อื่น ๆ โดย รฟท. มีที่ดินทั้งหมด 220,000 ไร่จากทั่วประเทศ เป็นที่ดินในกรุงเทพฯ ประมาณ 3,000 กว่าไร่ ที่ดินหลัก ๆ อยู่ที่ย่านพหลโยธิน 2,200 ไร่ มักกะสัน 570 ไร่ สถานีแม่น้ำย่านคลองเตย 276 ไร่ และที่เหลือเป็นที่ดินตามแนวสายทางรถไฟและสถานีรถไฟ ซึ่งที่ดินเกือบทั้งหมดของ รฟท. ถูกชุมชนบุกรุกจับจองตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันมานาน ขณะที่ข้อมูลจากสำนักพัฒนาชุมชน กทม. มีการขึ้นทะเบียนชุมชนไว้ทั้งสิ้น 1,981 ชุมชน เป็นชุมชนที่บุกรุกที่ดินของหน่วยงานราชการมากถึง 126 ชุมชน ซึ่งส่วนนี้เป็นเพียงจำนวนที่สำรวจและเก็บข้อมูลการขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่สมัยที่นายพิจิตต รัตตกุล เป็น ผู้ว่าฯ กทม. และเปิดโอกาสให้ชุมชนบุกรุกมาขึ้นทะเบียนได้เท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นไม่อนุญาตให้ชุมชนบุกรุกขึ้นทะเบียนแล้วจึงไม่มีการเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ ซึ่งน่าจะมีเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง

ตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบราง เพื่อพัฒนาศักยภาพการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ลดปัญหาการจราจรติดขัด ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานของเมืองหลวง รฟท. ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่เป็นเส้นทางแกนหลักก่อสร้างตามแนวทางรถไฟเดิม โดยได้รับอนุมัติก่อสร้างเส้นทางแรก คือ รถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และอาคารผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ตลิงก์ มีการลงนามสัญญาจ้างบริษัท ชิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ก่อสร้างโครงการ ในวันที่ 19 ก.พ. 2548 โดยมีกำหนดเสร็จสิ้นทั้งโครงการตามสัญญาในวันที่ 5 พ.ย. 2550 แต่มาจนถึงขณะนี้คนกรุงเทพฯ ยังไม่ได้นั่งรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ เนื่องจากโครงการก่อสร้างมีความล่าช้ามาตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือ การไล่รื้อชุมชนบุกรุกตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ตั้งแต่ สถานีพญาไท ไปจนถึงทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับผู้รับเหมาได้ตามกำหนด ส่วนหนึ่งมาจากขั้นตอนทางระบบราชการที่ล่าช้าของ รฟท.ในเรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าช่วยเหลือเมื่อเจรจากับชาวบ้านได้แล้ว ต้องใช้เวลาเบิกจ่ายนานถึง 6 เดือน กว่าจะนำเงินมาจ่ายชาวบ้านได้ ทำให้ชาวบ้านไม่ยอมตกลงด้วย เพราะเวลาผ่านไปนานทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงไป

รฟท. จึงใช้เรื่องดังกล่าวเป็นบทเรียนในโครงการต่อมา หลังจากที่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จึงได้มีการระบุข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคาว่า ผู้รับเหมาโครงการจะต้องทำหน้าที่ไล่รื้อชุมชนบุกรุกตามแนวสายทางโครงการด้วย เพื่อลดปัญหาเดิม ๆ ในการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมาล่าช้า โดย รฟท. ให้เหตุผลว่าเอกชนมีศักยภาพในการเจรจารื้อย้ายชุมชนบุกรุกได้ดีกว่า รฟท. ซึ่งในขณะนั้นมีผู้รับเหมาสนใจยื่นประมูลโครงการนี้เพียงรายเดียว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้ายูนิค-ชุนวู จอยต์ เวนเจอร์ และได้งานไป โดยผู้รับเหมาได้ลงพื้นที่เริ่มงานไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้การรื้อย้ายมีความก้าวหน้าไปแล้ว 30% รื้อย้ายไปแล้ว 200 หลังคาเรือน เจรจาไกล่เกลี่ยไปแล้ว 800 หลังคาเรือน จากทั้งหมด 3,000 หลังคาเรือน ซึ่ง รฟท. เผยว่าเป็นความก้าวหน้าที่ดี ไม่มีปัญหาล่าช้าเหมือนโครงการแอร์พอร์ตลิงก์

ล่าสุด รฟท. เตรียมเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสาย สีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต หลังจากได้รับอนุมัติเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือไจก้า วงเงิน 23,341 ล้านบาท รฟท. ก็เริ่มเดินหน้าโครงการทันที เริ่มจากการเตรียมจ้างเอกชนเข้ารื้อย้ายอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้บุกรุกออกจากพื้นที่โครงการ งบประมาณ 71,043,600 บาท โดยเอกชนที่ได้งานจะต้องรื้อย้ายอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้บุกรุกออกจากพื้นที่โครงการในแนวทางรถไฟสายเหนือ คือ ตั้งแต่บริเวณก่อนเข้าสถานีบางซื่อ กม.6+000.00 ถึงสถานีรังสิต กม.32+350.00 จำนวนประมาณ 1,236 ครัวเรือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกาศร่างทีโออาร์ให้ผู้สนใจเข้าแสดงความเห็นตามระเบียบพัสดุ ก่อนเปิดประกวดราคาจ้างต่อไป

นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. เปิดเผยว่า นโยบายของ รฟท. ขณะนี้ คือ ใครก็ตามที่มาก่อสร้างโครงการตามแนวเส้นทางรถไฟ จะต้องรับผิดชอบงานรื้อย้ายผู้บุกรุกไปด้วย ซึ่ง รฟท. ได้รวมค่ารื้อย้ายไว้ในงบประมาณก่อสร้าง สาเหตุที่ รฟท. ไม่ไล่รื้อเอง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาถูกมวลชนต่อต้านมาตลอด และมีขั้นตอนการเบิกจ่ายล่าช้าส่งผลให้การเจรจาไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่การจ้างเอกชนไล่รื้อจะมีประสิทธิภาพดีกว่า สามารถจ่ายค่าช่วยเหลือให้ชาวบ้านได้เร็ว โดย รฟท. จะเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เอกชนในการประสานงานเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้งานเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง รฟท. ได้เริ่มทำมาแล้วในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งได้ผลที่น่าพอใจ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-รังสิต ที่ รฟท.ต้องจ้างเอกชนมาไล่รื้อก่อน โดยเฉพาะนั้น เนื่องมาจากข้อกำหนดของไจก้า ที่ รฟท. ต้องแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของโครงการก่อนเบิกเงินไปใช้จ่าย นั่นก็คือต้องรื้อย้ายชุมชนบุกรุกออกจากแนวโครงการ เพื่อให้การก่อสร้างเดินหน้าได้อย่างไม่ติดขัด แต่ทางไจก้าไม่ต้องการให้ รฟท. นำเงินกู้จากองค์กรไปจ้างเอกชนไล่รื้อชุมชนบุกรุก เพราะเกรงว่าจะเกิดภาพลบต่อองค์กรว่าให้เงินไปรื้อย้ายชาวบ้าน รฟท. จึงต้องใช้งบประมาณของรัฐบาลไทยจำนวน 71 กว่าล้านบาท จ้างเอกชนมาไล่รื้อให้เรียบร้อยก่อนให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าพื้นที่

“การจ้างเอกชนไล่รื้อชุมชน รฟท. มีหลักเกณฑ์กำหนดเรื่องค่ารื้อย้าย ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน แต่ไม่ถึงขั้นที่จะต้องหาที่อยู่ให้ใหม่ โดยจะทำหน้าที่ประสานกับการเคหะแห่งชาติ หากชาวบ้านต้องการให้ช่วยหาที่อยู่ใหม่ เชื่อว่าเอกชนจะใช้วิธีการเจรจาอย่างละมุนละม่อม คุยกันดี ๆ ช่วยกันหาทางออก แต่หากเกิดความรุนแรงขึ้น รฟท. จะเข้าตรวจสอบเรื่องว่ามีสาเหตุจากอะไร หรือมีใครอยู่เบื้องหลังให้เกิดความรุนแรงหรือไม่” นายยุทธนากล่าว

หวังว่าการเจรจาไล่รื้อจะเกิดขึ้นในทางที่ดี เป็นไปตามหลักมนุษย ธรรม ไม่มีความรุนแรง และที่สำคัญชาวบ้านที่บุกรุกเองก็ไม่ควรดื้อแพ่ง ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม ก็จะทำให้สังคมน่าอยู่และมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น