วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การรถไฟฯปัดฝุ่นแผนพัฒนาที่ดิน ดึงย่านสถานีนำร่องรองรับการตั้งบ.ลูก


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2409 15 มี.ค. - 18 มี.ค. 2552

กนร.อนุมัติแผนตั้ง 2 บริษัทลูกของการรถไฟฯ พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินการเข้ม เร่งชงครม. อนุมัติในหลักการ ก่อนทำแผนละเอียดเสนออีกครั้ง สั่งให้ตั้งบริษัทเสร็จใน 30 วันหลังครม.อนุมัติหลักการแล้ว ด้าน สนข.เตรียมถึง ร.ฟ.ท. หารือกับกระทรวงคมนาคม ทำแผนพัฒนาเข้มอีกครั้ง ขณะที่การรถไฟฯ เตรียมจ้างที่ปรึกษาทำแผนการลงทุนอย่างละเอียด เตรียมนำที่ดินย่านสถานี อาทิ นครสวรรค์-เชียงใหม่-เชียงราย เป็นโครงการนำร่อง

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มีวาระพิจารณาเรื่องแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

โดยได้มีข้อสรุปว่าที่ประชุม กนร. เห็นชอบให้ดำเนินการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของ ร.ฟ.ท. โดยการจัดตั้งบริษัทเดินรถ และบริษัทบริหารทรัพย์สิน แยกจาก ร.ฟ.ท.

พร้อมกันนี้ได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ด้วยว่า ร.ฟ.ท.จะต้องเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาบริหาร และดูแลรักษาระบบรางและอาณัติสัญญาณ, สำหรับบริษัทเดินรถนั้นจะต้องดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมทั้งการเดินรถโดยสาร การเดินรถสินค้า การเดินรถไฟฟ้าสายแอร์พอร์ตลิงค์และรถไฟฟ้าสายสีแดง, บริษัทบริหารทรัพย์สิน จะต้องทำหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดิน จัดเก็บรายได้และบริหารสัญญาเช่าที่ดินของ ร.ฟ.ท. โดยให้เอกชนพัฒนาและบริหารที่ดินทั้งหมด

นอกจากนั้นยังกำหนดให้ร.ฟ.ท. จัดตั้งบริษัทลูก 2 บริษัท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ ครม. มีมติอนุมัติในหลักการ คือ
1. บริษัทเดินรถ และ
2. บริษัทบริหารทรัพย์สิน

โดยให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. พิจารณากำหนดทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่เหมาะสม อีกทั้งยังให้ ร.ฟ.ท.พิจารณาแบ่งแยกภารกิจสินทรัพย์และหนี้สินระหว่าง ร.ฟ.ท.และบริษัทลูก 2 บริษัท รวมทั้งกำหนดกิจกรรมระหว่างกันและราคาให้เหมาะสม และเสนอให้ กนร. หรือ ครม.เห็นชอบอีกครั้งภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ ครม.มีมติอนุมติในหลักการ และให้ร.ฟ.ท.ดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสินทรัพย์ และหนี้สิน เพื่อให้บริษัทลูก 2 บริษัท เริ่มดำเนินการได้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ครม.มีมติอนุมัติในหลักการ

รวมถึงให้รัฐบาลรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคตของ ร.ฟ.ท. โดยให้ กค. สศช. และ สงป.ร่วมพิจารณาการรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของร.ฟ.ท., ให้ กค. และ สงป.ร่วมพิจารณาในการแก้ภาระหนี้ของ ร.ฟ.ท. โดยให้ ร.ฟ.ท. ใช้รายได้ของ ร.ฟ.ท.และบริษัทลูกจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ที่ กค. ช่วยเหลือ, ให้คณะกรรมการ ร.ฟ.ท. พิจารณาเสนอกรอบอัตรากำลังที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนงานของ ร.ฟ.ท. ให้ กค.พิจารณาเห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม. ทบทวนมติครม. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ที่กำหนดให้ร.ฟ.ท. งดรับพนักงานใหม่ ยกเว้นตำแหน่งที่เกี่ยวกับการเดินรถและตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษ แต่ต้องไม่เกิน 5% ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ และให้ ร.ฟ.ท.เร่งรัดเสนอแผนการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการของร.ฟ.ท. และบริษัทลูก ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ ครม.มีมติอนุมัติในหลักการ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีความเห็นเพิ่มเติมให้ ร.ฟ.ท. ไปจัดทำรายละเอียดในประเด็นดังนี้
คือ

1. ให้นำเสนอรายละเอียดโครงสร้างบริษัทลูกที่จะจัดตั้งขึ้นให้ชัดเจน,
2. พิจารณากรอบภารกิจของบริษัทบริหารทรัพย์สิน ระยะที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ Real Estate Developer,
3. พิจารณาภารกิจหน้าที่ด้านการพัฒนา บริหาร และดูแลรักษาระบบรางและอาณัติสัญญาณ ว่าควรแยกออกจากกันหรือไม่ อย่างไร และ
4. ควรอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด รวมถึงให้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการตามแผนให้ชัดเจน แล้วให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไปด้วย

ด้านนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม กนร.ได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนการฟื้นฟูการบริหารจัดการของการรถไฟฯ แล้ว ก็จะเสนอขออนุมัติในหลักการสำหรับการจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 บริษัท ต่อครม. เป็นลำดับต่อไป และในระหว่างนี้ การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม จะต้องร่วมกันหารือถึงความชัดเจนของแนวทางการดำเนินการ ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการ โครงสร้างการทำงาน โครงสร้างบุคลากร รวมถึงความชัดเจนของการพัฒนาและการลงทุน ซึ่งจะต้องหาคำตอบให้ชัดเจน ก่อนที่จะเสนอให้ครม.

รับทราบในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียด โดยเบื้องต้นกำหนดแผนงานไว้ว่าจะนำที่ดินบริเวณสถานีทั่วประเทศซึ่งมีอยู่ประมาณ442 สถานี มาพัฒนาเป็นลำดับแรก โดยในระยะแรกจะดึงมาพัฒนาก่อนประมาณ 114 สถานี โดยจะมุ่งเน้นพื้นที่สถานีขนาดใหญ่ อาทิ

1. อยุธยา
2. นครสวรรค์
3. อุตรดิตถ์
4. เชียงใหม่
5. ลำปาง

เอามาพัฒนาเป็นโครงการนำร่องก่อน โดยการรถไฟฯ จะว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษา พร้อมทั้งจะดึงผู้เชี่ยวชาญ อาทิ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมวางแผนการพัฒนาอย่างละเอียด ว่าแต่ละสถานีควรจะพัฒนาเป็นอะไร ต้องใช้เงินลงทุนเท่าไร การทำแผนพัฒนาที่ดินแปลงอื่นๆ ก็จะต้องทำแผนอย่างละเอียดเช่นเดียวกัน

สำหรับแผนการจัดตั้งบริษัทลูกนั้น การรถไฟฯ จะเร่งเสนอหลักการขออนุมัติจัดตั้งบริษัทลูกทั้ง 2 แห่ง ให้ ครม. อนุมัติเห็นชอบในหลักการ จากนั้นการรถไฟฯ ก็จะไปจัดทำแผนรายละเอียดของการพัฒนาแต่ละแปลงมาเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งในส่วนของบริษัทลูกนั้น จะได้รับสิทธิ์ในการบริหารที่ดินตามสถานีรายทางต่าง ๆ โดยจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการสัญญาจัดเก็บรายได้จากคู่สัญญาที่มาเช่าที่ดินการรถไฟฯ เพื่อพัฒนาโครงการ แต่ในส่วนของสัญญานั้นผู้เช้าจะเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับการรถไฟฯ ในขณะเดียกวันบริษัทลูกก็สามารถที่จะร่วมทุนกับเอกชนเพื่อพัฒนาที่ดินแปลงต่างๆ ด้วย สำหรับส่วนแบ่งรายได้จะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดกันอีกครั้งหนึ่ง

ผู้ว่าการการรถไฟฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของที่ดิน 3 แปลงใหญ่ คือ

1. ที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน
2. ที่ดินสถานีแม่น้ำ และ
3. ที่ดินบริเวณพหลโยธินนั้น

การรถไฟฯ จะไม่โอนให้บริษัทลูกนำไปดำเนินการ แต่จะเก็บไว้บริหารจัดการเอง เนื่องจากทั้ง 3 บริเวณเป็นที่ดินแปลงใหญ่ มีมูลค่าการลงทุนที่สูง การรถไฟฯ จึงต้องการที่จะเก็บไว้ดำเนินการเอง ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถจัดทำแผนการพัฒนาอย่างละเอียดให้แล้วเสร็จได้ในเร็วๆ นี้

อนึ่งที่ดินของการรถไฟฯ ที่มีอยู่ มีจำนวน 234,976 ไร่ ประกอบด้วยที่ดินที่ใช้รองรับภารกิจหลักขององค์กร 198,674 ไร่ ที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ 36,302 ไร่ ที่ดินย้านสถานี 5,333 ไร่ ที่ดินบ้านพัก 3,755 ไร่ และที่ดินที่เป็นพื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่

สำหรับที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ จำนวน 36,302 ไร่ นั้น แบ่งเป็นพื้นที่บริเวณสายตะวันออก จำนวน 4,952 ไร่ สายเหนือ 4,306 ไร่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ 9,032 ไร่ สายใต้ 15,186 ไร่ และพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2,825 ไร่ ซึ่งยังมีพื้นที่ที่สามารถนำมาพัฒนาได้อยู่ประมาณ 34,487 ไร่ โดยในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่แปลงใหญ่ อาทิ ที่ดินย่านพหลโยธิน 1,070 ไร่ และ มักกะสัน 745 ไร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น