วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เปิดกรุที่ดิน รฟท.ผันเป็นเงิน


ไทยรัฐออนไลน์ 8 กรกฎาคม 2552 08.15 น.
ประธานคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน รฟท. สั่ง รฟท. เร่งสำรวจที่ดินในความครอบครองทั้งหมดเพื่อจะได้จัดสรรและนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้และชดเชยหนี้สินที่คงค้างจำนวนกว่า 73,000 ล้านบาท เร่งสางปมชุมชนแห่บุกรุกพื้นที่...

นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ รฟท. เร่งสำรวจที่ดินในความครอบครองทั้งหมดเพื่อจะได้จัดสรรและนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สร้างรายได้และชดเชยหนี้สินที่คงค้างจำนวนกว่า 73,000 ล้านบาท พร้อมกับนำมาจ่ายค่าบำนาญของพนักงานที่เกษียณอายุไปก่อนหน้านี้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท

"นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ได้ให้ นโยบายแก่คณะกรรมการ รฟท.ว่า จะต้องนำที่ดินของ รฟท.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กร ซึ่งเรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายบริหารและพนักงาน รวมทั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ด้วยเพราะที่ผ่านมา รฟท.มีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันทรัพย์สินที่มีก็ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์"

นอกจากนี้ ได้พิจารณาเรื่องการบุกรุกที่ดิน รฟท.ของชุมชนต่างๆทั่วประเทศ ล่าสุดมีชุมชนที่บุกรุกที่ดินจำนวน 358 ชุมชน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2551 มีชุมชนที่บุกรุกที่ดินจำนวน 250 ชุมชน ขณะที่สถิติในปี 2546 มีชุมชนบุกรุกที่ดิน รฟท.เพียง 128 ชุมชนเท่านั้น ซึ่งลักษณะของชุมชนที่เพิ่มขึ้นนั้น บางส่วนเป็นลักษณะการขยายชุมชนให้ใหญ่ขึ้น บางส่วนเป็นการบุกรุกพื้นที่เพื่อสร้างชุมชนใหม่ ดังนั้น รฟท.จะต้องลงไปดูรายละเอียดว่าแต่ละพื้นที่มีที่ดินที่ถูกบุกรุกและเป็นชุมชนใหม่จำนวนเท่าไร เพื่อนำมารายงานให้คณะกรรมการทราบ พร้อมทั้งหาแนวแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ด้วย

อย่างไรก็ตาม รฟท.จะต้องพิจารณาข้อกฎหมายหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น มติ ครม.เดิมที่อนุญาตให้ชุมชนบางแห่งสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟท.ในการพักอาศัยได้ สำหรับผู้บุกรุกที่ดินในโครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันนั้น ประชาชนที่อยู่ในชุมชนบางซื่อ ได้ยื่นเงื่อนไขให้ รฟท. ช่วยเหลือ เช่น ขอย้ายไปใช้พื้นที่บริเวณคลองต้นซุง หรือหากพื้นที่ของ รฟท. บริเวณใดมีส่วนเกินนอกเหนือจากการก่อสร้างก็จะขอใช้พื้นที่ส่วนเกินดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีราย ละเอียดที่ชัดเจนจึงได้ให้เข้าไปดูรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้พิจารณาที่ดินราชพัสดุ และที่ดินในส่วนที่ให้เช่าของหน่วยงานอื่น เพื่อให้ผู้บุกรุกได้ย้ายจากแนวเส้นทางรถไฟฟ้ามาอยู่ในที่ดินที่จัดสรรให้แทน ทั้งนี้ รูปแบบในการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน เป็นระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ที่มีระยะทางรวม 15 กม. ประกอบด้วย 3 สถานี คือ สถานีบางซ่อน สถานีบางบำหรุ และสถานีตลิ่งชัน ซึ่ง รฟท.ได้เริ่มกระบวนการขายซองประกวด ราคาตั้งแต่วันที่ 3-12 ต.ค. 51 พร้อมกำหนดราคากลางในการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการ โดยมีราคากลางอยู่ที่ 8,748 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 1,100 วัน หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ โดยสารไม่น้อยกว่า 35,000 คนต่อวัน และเมื่อมีการขยายโครงการไปถึงนครปฐม ก็จะสามารถรองรับผู้โดยสารถึง 65,000 คนต่อวัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น