วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พบพิรุธต่อสัญญา”เซ็นทรัล” “ยุทธนา”ขึ้นเขียงรอถูกเชือด


โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 21 ธันวาคม 2551 23:59 น.


ASTVผู้จัดการรายวัน- ต่อสัญญาเซ็นทรัล ส่อเค้าไม่โปร่งใส กมธ.คมนาคม วุฒิสภา ประสาน กมธ.ชุดการเงินและชุดสอบทุจริตตั้งอนุฯ สอบสวนเฉพาะ เผยข้ามขั้นตอน ทั้งสำนักงบ และ สศช.ยังไม่ให้ความเห็นก่อนชง ครม.ตามขั้นตอน แฉเร่งรีบเสนอ ครม.สมชายอนุมัติ เพื่อให้ทันก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค กรรมการมาตรา 13 ฉงน "ยุทธนา" ทำหนังสือตอบอัยการสูงสุดอ้างกรรมการมาตรา 13 ประชุมพิจารณากรณีที่อัยการติงร่างสัญญาแล้ว ทั้งที่ไม่มีประชุม

นายจารึก อนุพงษ์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในการต่อสัญญาเช่าที่ดินพร้อมทรัพย์สินบริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินจำนวน 47.22 ไร่ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท เซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด โดย ร.ฟ.ท.ได้รับผลตอบแทน 2.1 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 20 ปีนั้น พบว่ามีการดำเนินงานหลายอย่างที่ยังมีข้อสงสัย ทั้งการเร่งรัดการเสนอขออนุมัติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 การเร่งรัดการลงนามสัญญาและการพิจารณาเรื่องผลตอบแทน และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ได้มา

ทั้งนี้ ประเด็นการต่อสัญญาดังกล่าวขณะนี้ได้ประสานไปยังคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล และคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา เพื่อตั้งอนุกรรมการร่วมในการตรวจสอบการต่อสัญญาเซ็นทรัลเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุดแล้ว

"โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีมูลค่าสูง แต่การต่อสัญญากระทำอย่างเร่งรีบและไม่เปิดเผย ซึ่งในเบื้องต้นมีการตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น จึงต้องตั้งอนุกรรมการฯ โดยขอให้คณะกรรมาธิการ การเงิน การคลังและคณะกรรมาธิการตรวจสอบทุจริต มาร่วมทำงานด้วยเพื่อให้การตรวจสอบมีความครอบคลุมในทุกประเด็นและไม่ซ้ำซ้อน" นายจารึกกล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานของคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา ได้ขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดการพิจารณาเรื่องผลตอบแทนของการต่อสัญญา กระบวนการเสนอขออนุมัติครม. และขั้นตอนก่อนการเซ็นสัญญากับเซ็นทรัลทั้งหมด จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว

พร้อมกันนี้ได้มีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว เช่น นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท. นายอิทธิพล ปภาวสิทธิ์ รองผู้ว่าการฯ ด้านบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท.ซึ่งถูกตั้งเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 แทนนายนคร จันทรศร รองผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท. รวมถึงจะมีการเรียกคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 ทุกคน ให้มาชี้แจงกระบวนการ ขั้นตอนการพิจารณาที่ผ่านมาด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุผลในการ ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท. เปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 ทั้งที่เหลือขั้นตอนอีกเพียงเล็กน้อยก็จะสรุปแล้ว ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ประธานคนเก่า หยุดการทำงาน ซึ่งในข้อเท็จจริงหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนได้สรุปการพิจารณาเรื่องการต่อสัญญาและผลตอบแทนแล้ว และได้ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตามขั้นตอน โดยอยู่ระหว่างการรอหนังสือตอบกลับ ซึ่งอัยการสูงสุดได้ตอบกลับมาในวันที่ 27 พ.ย.2551 ในขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ได้มีมติไว้แล้วว่า จะมีการประชุมหลังจากอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาเสร็จ แต่เมื่ออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาส่งกลับมายังร.ฟ.ท.คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนก็ไม่ได้มีการประชุมแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ประเด็นข้อน่าสงสัย เช่น การเร่งเสนอที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 เพื่อให้ทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณยังไม่ให้ความเห็นมา ถือเป็นการเสนอเรื่องที่ไม่ผ่านขั้นตอนโดยสมบูรณ์หรือไม่

กรณีที่ใช้เวลาในการเสนอเรื่องจาก ร.ฟ.ท.ไปยังนายสันติ พร้อมพัฒน์ ซึ่งเป็นรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น และเสนอ ครม.ภายในเวลา 2 วัน โดยที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 ยังไม่ได้ประชุมกรณีที่อัยการสูงสุดได้มีความเห็นเกี่ยวกับร่างสัญญาถึง 3 ข้อ ถือว่าข้ามขั้นตอนที่สำคัญหรือไม่ และการที่ ครม.ให้ความเห็นชอบโดยให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการตามข้อท้วงติงของอัยการสูงสุดก่อนเซ็นสัญญา และบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้รับทราบมติ ครม. และให้ดำเนินการตามข้อท้วงติงของอัยการสูงสุดก่อนเซ็นสัญญาเช่นกัน แต่ ร.ฟ.ท.ได้เซ็นสัญญากับเซ็นทรัลในวัดถัดจากประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เลยนั้นรวดเร็วเกินไปหรือไม่

นอกจากนี้ นายยุทธนา ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.ยังทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดระบุว่า ตามที่อัยการสูงสุดได้ให้ข้อสังเกตร่างสัญญาข้อ 5.8.2 กำหนดวงเงินประกันภัยสำหรับความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกไว้เพียง 20 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ธุรกิจทั้งหมดและปริมาณผู้ใช้บริการของศูนย์การค้าดังกล่าวแล้ว ร.ฟ.ท.ควรพิจารณาทบทวนตัวเลขดังกล่าวว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมหรือไม่นั้น ร.ฟ.ท.ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้วเห็นว่า การกำหนดวงเงินประกันภัยสำหรับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาทต่อปี หากจำนวนเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไม่เพียงพอต่อความรับผิดชอบดังกล่าว บริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด จะต้องรับผิดชอบชดใช้เพิ่มเติมทั้งสิ้นแต่เพียงผู้เดียว

โดยจำนวนเงินดังกล่าว ร.ฟ.ท.และเซ็นทรัล จะร่วมกันกำหนดขึ้นใหม่ทุก 5 ปี และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนผู้ประกอบการที่ดินของ ร.ฟ.ท.บริเวณสามเหลี่ยมย่านพหลโยธินได้ประชุมร่วมกันในเรื่องนี้แล้ว โดยหนังสือดังกล่าว ลงวันที่ 28 พ.ย. 2551 หลังจากอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาส่งกลับมายัง ร.ฟ.ท.วันที่ 27 พ.ย.2551 เพียง 1 วันเท่านั้น และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ยืนยันว่าไม่ได้มีการประชุมร่วมกันตามที่ตอบไปยังอัยการสูงสุดแต่อย่างใด โดยได้มีการทำหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ทราบในภายหลังแทน

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา ให้ความสนใจกรณีการต่อสัญญาเซ็นทรัลอย่างมากและเห็นว่าการดำเนินการของ ร.ฟ.ท.ไม่ถูกต้องหลายขั้นตอนและมีการท้วงติงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงบประมาณ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือสอบถามความเห็นไปก่อนเข้า ครม. แต่สำนักงบประมาณยังไม่ทันให้ความเห็นประกอบที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 ก็ให้ความเห็นชอบเรื่องดังกล่าวไปแล้ว

ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการฯ ร.ฟ.ท.ยืนยันว่า กระบวนการต่างๆ ในการเสนอขออนุมัติ ครม. เพื่อต่อสัญญาเซ็นทรัลนั้น ได้ผ่านการพิจารณามาตามขั้นตอนครบถ้วนแล้ว และการเร่งดำเนินการลงนามในสัญญาให้เรียบร้อยก่อนที่สัญญาเดิมจะครบกำหนด ในวันที่ 18 ธ.ค.2551 ก็เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในภายหลัง

สำหรับกรณีของการเช่าที่ดิน รฟท. ของบริษัทเซ็นทรัลอินเตอร์พัฒนา จำกัด ได้ลงนามสัญญาเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าวกับ รฟท. เมื่อปี 2521 เนื้อที่ 47.22 ไร่ (75,558 ตร.ม.) ในราคาปีละ 3 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น